ข้อควรรู้! ใครบ้างที่ควรใช้ยา PrEP

บทความสุขภาพ

26 ธ.ค. 2566
ครั้ง

ข้อควรรู้! ใครบ้างที่ควรใช้ยา PrEP

      ยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อ HIV สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ HIV แต่มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ซึ่งยา PrEP จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV รวมถึงช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนและแพร่กระจายของเชื้อ HIV ในร่างกาย ทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถเติบโตได้ 

ใครบ้างที่ควรใช้ยา PrEP
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ HIV รวมทั้งกรณีที่ไม่ทราบผลเลือดของคู่นอนว่าติดเชื้อ HIV หรือไม่
  • ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีด โดยใช้เข็มหรืออุปกรณ์อื่นร่วมกับผู้อื่นในการฉีดยา
  • ผู้ที่รับประทานยา PEP (Post-Exposure Prophylaxis เป็นประจำ แต่ไม่สามารถเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

การเตรียมตัวก่อนเริ่มยาเพร็พ (PrEP)

      เนื่องจากการใช้ยาเพร็พ (PrEP) ต้องรับประทานยาทุกวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงความเหมาะสม ประโยชน์ที่จะได้รับ และควรได้รับความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี รวมถึงการประเมินค่าใช้จ่ายหรือแหล่งสนับสนุน เมื่อตัดสินใจเริ่มยาควรปรึกษาแพทย์ เพื่อซักประวัติเกี่ยวกับอาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ประวัติการใช้ยาอื่น และประวัติโรคไต พร้อมทั้งตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ซี ซิฟิลิส และตรวจการตั้งครรภ์ในสตรี ทั้งนี้ควรเริ่มยาเพร็พ (PrEP) หลังจากการตรวจคัดกรองผลเลือดแล้วภายใน 7 วัน

ความแตกต่างระหว่างยา PrEP และยา PEP

      ยา PrEP เป็นยาต้านไวรัสที่รับประทานก่อนที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ HIV ส่วนยา PEP เป็นยาต้านไวรัส HIV แบบฉุกเฉินที่จำเป็นต้องรับประทานทันทีหรือเร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HIV เช่น 

  • มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่อาจมีเชื้อ HIV และไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ถุงยางอนามัยหลุดหรือฉีกขาด
  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

      ตัวยา PEP มีหลายสูตร ซึ่งการเลือกใช้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยต้องรับประทานต่อเนื่องกันให้ครบ 28 วัน และในระหว่างที่รับประทานยา แพทย์จะนัดให้มาตรวจหาเชื้อ HIV และตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม

ใครบ้างที่ไม่ควรใช้ยา PrEP

      ยา PrEP ไม่ควรใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำในการป้องกันเชื้อ HIV ที่เหมาะสมด้วยวิธีอื่นแทน นอกจากนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีปัจจัยสุขภาพหรือโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ 

  • มีประวัติแพ้ยาทีโนโฟเวียร์ ยาเอ็มตริไซตาบีน และยาอื่น ๆ
  • มีโรคไวรัสตับอักเสบ
  • มีโรคตับและไตขั้นรุนแรง
  • มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ติดเชื้อ HIV

      ยา PrEP จะมีประสิทธิภาพมากหากรับประทานอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV นอกจากนั้นควรป้องกันการติดเชื้อ HIV ด้วยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ด้วย เช่น ไม่มีคู่นอนหลายคนหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ตรวจหาโรคติตต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ และ สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

ข้อควรรู้ใครบ้างที่ควรใช้ยาPrEP.png

ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา

iConsFacebook.png iConsInstagram.png iConsLine.png iConsTwitter.png iConsYouTube.png iConsTikTok.png