"Lung cancer"

Health News

15 Dec 2021
views

“มะเร็งปอด” โรคร้าย ภัยเงียบ รู้ก่อน...รักษาก่อน

      มะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตของประชากรทั่วโลกและเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อย มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่รู้ตัวและมาพบแพทย์เมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่ลุกลามและแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายไปมากแล้ว จึงอาจทำให้รักษามะเร็งได้ยาก อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบเชื้อมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก็จะทำให้การรักษาโรคมะเร็งปอดได้ผลดีมากยิ่งขึ้น โดยมะเร็งปอดจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก พบได้ประมาณ 10-15% เป็นชนิดที่มีการเจริญเติบโต และแพร่กระจายของเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง มะเร็งชนิดนี้ค่อนข้างตอบสนองได้ดีกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี
  • มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก เป็นชนิดที่พบได้บ่อย ประมาณ 85-90% เซลล์มีการเจริญเติบโตและแพร่กระจายช้ากว่า และสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัด หากมีการตรวจพบตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เริ่มเป็น

อาการของโรคมะเร็งปอด

  • ไอเรื้อรัง
  • ไอเป็นเลือด
  • หอบเหนื่อย
  • หายใจลำบาก
  • เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
  • ปอดอักเสบ
  • มีไข้
  • เบื่ออาหาร
  • กลืนอาหารลำบาก
  • น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • หน้าบวมคอบวม
  • ปวดกระดูก
  • อัมพาต
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด
  • การสูบบุหรี่
    เป็นปัจจัยหลักในการเกิดมะเร็งปอดถึง 85% ของสาเหตุทั้งหมด และผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากถึง 10 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่อีกด้วย
  • การได้รับสารพิษ
    ผู้ที่ได้รับการสัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น แร่ใยหิน สารแอสเบสตอส แร่เรดอน สารหนู นิกเกิล และมลภาวะในอากาศเป็นประจำ ก็เป็นตัวช่วยกระตุ้นทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้
  • พันธุกรรม
    อาจเกิดจากความบกพร่องทางกรรมพันธุ์หรือความเสื่อมของเซลล์ แม้ว่าโรคมะเร็งปอดจะไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง แต่หากพบว่าบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งปอด ก็อาจจะทำให้เรามีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
  • ปัจจัยร่วมอื่นๆ
    เช่น อายุที่มากขึ้น หรือการใช้สารเสพติดบางประเภท
การป้องกันตัวให้ห่างไกลโรคมะเร็งปอด
  • ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่ เพื่อให้ร่างกายมีโอกาสได้รับสารพิษจากควันบุหรี่ให้น้อยที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษและมลพิษทางอากาศ หากจำเป็นจะต้องทำงานที่ต้องสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง ก็ควรสวมใส่เครื่องมือป้องกันร่างกายให้ได้มากที่สุด และพยายามอยู่ในที่ๆ มีอากาศบริสุทธิ์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยการรับประทาน ขิง แอปเปิ้ล ฟักทอง มะเขือเทศ หรืออาหารอื่นๆ ช่วยบำรุงปอดให้แข็งแรง
  • ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เมื่อร่างกายแข็งแรง ก็จะช่วยให้ปอดสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการค้นพบโรคได้เร็ว เพราะมะเร็งปอดในช่วงแรก จะไม่ได้แสดงอาการเตือนให้ทราบ ดังนั้นหากตรวจพบได้ไว ก็สามารถรักษาได้เป็นผลดี

Follow Our Social Network

iConsFacebook.png iConsInstagram.png iConsLine.png iConsTwitter.png iConsYouTube.png