Diseases in the elderly that should be careful
Health News
21 Mar 2022
views
โรคภัยในผู้สูงอายุที่ควรระมัดระวัง
เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ก็เสื่อมสภาพลง ส่งผลให้ร่างกายเสื่อมถอย และอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคภัยต่าง ๆ ตามมาได้มากมาย ปัญหาสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในวัยสูงอายุ แต่ในเบื้องต้นก็ยังสามารถทำความเข้าใจ ป้องกัน และดูแลได้ ดังนั้นเมื่อถึงวัยสูงอายุแล้ว จึงควรหมั่นตรวจเช็คสภาพร่างกายเพื่อที่จะได้รู้ทันโรค และป้องกันได้อย่างทันท่วงที
- โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ เมื่ออายุมากขึ้นจะพบว่าอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงหัวใจและหลอดเลือดก็จะเสื่อมสภาพลง ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจได้ โดยปัจจัยเสียงทีช่วยกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจจะมีทั้ง ความเครียด การรับประทานของหวาน มัน เค็ม มากเกินไป การนอนหลับไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย และการสูบบุหรี่ โดยหากเป็นโรคหัวใจแล้วจะมีอาการ เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ใจสั่น หรือหน้ามืด เป็นต้น
- โรคเบาหวาน ความเสื่อมตามวัยของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงนอกเหนือจากอายุที่มากขึ้นแล้ว ก็ยังมีเรื่องของ น้ำหนักเกินมาตรฐาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ขาดการออกกำลังกาย การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ และกรรมพันธุ์ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมักจะมีอาการ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลดหิวบ่อย ตาพร่ามัว และชาปลายมือ ปลายเท้า เป็นต้น
- โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคคุ้นหูที่ได้ยินบ่อยในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่ไม่ค่อยปรากฎอาการในช่วงแรก แต่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคภัยอื่น ๆ ตามมาอีกมาก โดยปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงก็คือ น้ำหนักเกินมาตรฐาน ไขมันในเลือดสูง การดื่มสุรา รับประทานอาหารรสเค็ม ขาดการออกกำลังกาย โรคเบาหวาน และการหยุดหายใจขณะหลับ โดยผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมักจะมีอาการปวดหัว เวียนหัว เหนื่อยง่าย และอาจมีอาการของโรคแทรกซ้อน เช่น อัมพาต หรือ มีภาวะหัวใจวายเกิดขึ้นได้อีกด้วย
- โรคสมองเสื่อม เป็นภาวะที่ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำไม่ได้ เป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อายุ กรรมพันธุ์ รูปแบบการดำเนินชีวิต การไม่ฝึกสมอง และโรคทางสมองต่าง ๆ เป็นต้น โดยโรคอัลไซเมอร์นับเป็นโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยมากที่สุด ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ มีทักษะการใช้ภาษาผิดปกติ และมีพฤติกรรมรวมถึงอารมณ์ที่เปลี่ยนไป
- โรคข้อเข่าเสื่อม ภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อเข่าสึกหรอและเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ ที่ข้อเข่าผ่านการใช้งานมานาน เมื่อกระดูกผิวข้อเข่าสึกหรอไปจนหมดแล้ว กระดูกข้อเข่าจะมาชนกัน ทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรง อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การใช้เข่าที่ไม่ถูกต้องมานาน น้ำหนักตัวมากเกินไป เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณเข่ามาก่อน เป็นโรคข้ออักเสบ เป็นต้น อาการที่พบมากจะมีอาการเจ็บปวด มีเสียงในข้อเข่า ข้อเข่าบวม ข้อเข่าโก่งงอ และข้อเข่ายึดติด
- ภาวะกระดูกพรุน เป็นภาวะการสูญเสียความหนาแน่นและมวลของกระดูกลด เนื่องจากสูญเสียแคลเซียมที่สะสมในกระดูก ทำให้กระดูกบางลง เสื่อมสภาพ เปราะบาง ผิดรูป และมีโอกาสแตกหักได้ง่าย ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน ได้แก่ อายุ กรรมพันธุ์ การบริโภคแคลเซียมไม่เพียงพอ การลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน โดยส่วนใหญ่ในช่วงแรกจะสังเกตไม่เห็นอาการผิดปกติอะไร แต่หากพบว่าส่วนสูงเริ่มลดลง มีอาการหลังค่อม และต่อมารู้สึกปวดที่กระดูกโดยปวดลึกๆ ที่กระดูก หรือสามารถรู้ได้ด้วยการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก